เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของศึกเลือกตั้งใหญ่ ปี 66 ซึ่งตอนนี้จากสารพัดโพล ผลออกมาต้องบอกว่าสู้กันดุเดือด และมีการจับคู่แบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน ระหว่างขั้ว “อนุรักษนิยม กับ เสรีประชาธิปไตย” ขณะเดียวกัน ในมุมของนโยบายหาเสียงทุกพรรคต่างงัดนโยบายลดแลกแจกแถม เกทับบลัฟแหลก ช่วงชิงคะแนนในโค้งสุดท้ายกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
ทีมข่าว “เศรษฐกิจเดลินิวส์” จึงขอเปิดพื้นที่เฟ้นนโยบายเด่นด้านเศรษฐกิจของ 4 พรรคการเมืองใหญ่ที่คาดว่าจะสามารถโกยคะแนนเสียงได้มากที่สุด มาประกอบการตัดสินใจในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเดินเข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้
ก้าวไกลชู 100 วันแรก
ประเดิมด้วยพรรคขวัญใจคนรุ่นใหม่ ที่เรตติ้งแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่อย่าง “พรรคก้าวไกล” มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยพรรคน้องใหม่ที่จุดยืน และอุดมการณ์ที่ชัดเจน โดยวางกรอบเวลาขับเคลื่อนนโยบายหลักที่สามารถผลักดันได้ใน 100 วันแรก 1 ปีแรก และสมัยแรก ภายใต้กรอบ “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต” โดยเฉพาะเรื่องของปากท้องดีใน 100 วันแรก ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องทันทีด้วยการทำนโยบายหวยใบเสร็จ เพิ่มกำลังซื้อครั้งใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อยให้คึกคักได้ตลอดปี
นอกจากนี้ยังช่วยดึงดูดการค้าและการลงทุนโดยการใช้กองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีเหลืออยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เปลี่ยนสูตรการจัดสรรก๊าซธรรมชาติทันที เพื่อลดค่าไฟ 70 สตางค์ ภายใน 1 ปี และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาท ไม่เพียงเท่านี้ยังมีมาตรการ ช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยภาครัฐจะช่วยจ่ายค่าประกันสังคมให้เป็นเวลา 6 เดือน ค่าแรงหักภาษีได้ 2 เท่า 2 ปี
อีกส่วนของนโยบายเศรษฐกิจของพรรคน้องใหม่ ที่ทำได้เลยใน 100 วันแรก คือ การปลดล็อกกฎกระทรวงและนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ทั้งเรื่องของ “สุราก้าวหน้า” ที่จะปลดล็อกกฎประกาศกระทรวงการคลัง ออกมติ ครม. ที่ปลดล็อกการออกโฉนดที่ดินให้นิคมสหกรณ์และนิคมสร้างตนเอง 6.5 ล้านไร่ ทันที และ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ “หลังคาสร้างรายได้” ให้คนไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองบนหลังคาบ้าน
ส่วนแผนงาน 1 ปีแรก เตรียมทำ 2 ส่วนคือ การยื่นเสนอกฎหมายและรื้องบประมาณ 67 โดยเวลานี้มีกฎหมายอยู่ในมือแล้ว 45 ฉบับ ที่พร้อมเสนอทันทีที่สภา เปิดเป็นกฎหมายการเมือง 11 ฉบับ สิทธิเสรีภาพประชาชน 8 ฉบับ ปฏิรูประบบราชการ 6 ฉบับ ปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ บริการสาธารณะ 8 ฉบับ แรงงาน 2 ฉบับ เศรษฐกิจ 4 ฉบับ และสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ อีกส่วน คือ การเตรียม รื้องบประมาณปี 67 ใหม่ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในระบบราชการและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ซึ่งทำให้ได้งบประมาณใหม่ 250,000 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดสรรเป็นโครงการต่างๆ ทั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิและปลดหนี้เกษตรกร ทำกล่องของขวัญแรกเกิดเด็กทุกคนทันที คนละ 3,000 บาท ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท รวมทั้งเริ่มการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงวัยและคนพิการปีแรกขยับจาก 600 บาท เป็น 1,200 บาท และจะขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นขั้นบันไดให้ถึงคนละ 3,000 บาทต่อเดือน ภายในปีที่ 4 รวมถึงการจัดสรรงบประมาณไปในอีกหลายภาคส่วนเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงขนส่งสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สนับสนุนค่าเดินทาง-ค่าตรวจในการตรวจสุขภาพประจำปี และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น
เพื่อไทยอัดหนัก 1 หมื่นบาทคำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
ด้าน “พรรคเพื่อไทย” ตัวเต็งอันดับหนึ่งที่คาดกันว่าจะกวาดคะแนนเสียงได้ที่มากสุด นำโดย “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ซึ่งปักธงว่า เลือกตั้งรอบนี้ไม่เพียงแค่ชนะ แต่ต้องชนะแบบแลนด์สไลด์ถล่มทลายอีกด้วย โดยนโยบายไฮไลต์ด้านเศรษฐกิจที่เปิดตัวตั้งแต่ช่วงแรกๆ คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน แต่ดูเหมือนยังไม่ค่อยแรงเท่าใดนัก จนต่อมาต้องจัดหนัก ออกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยทุกคน อายุ 16 ปีขึ้นไปได้ไปใช้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เลยทันที ได้รับทั้งเสียงชมเสียงด่า และถูกตั้งคำถามมากมาย ถึงข้อจำกัดการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ทั้งที่มีแอปพลิเคชันเป๋าตังอยู่แล้ว ตลอดจนข้อจำกัดของงบประมาณที่ใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท
ขณะที่นโยบายด้านเกษตรกรที่เคยเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย มารอบนี้ก็พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่มีการถลุงเงินจำนำข้าวแล้ว แต่จะเน้นเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้ 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปีแทน พร้อมกับเน้นช่วยหาตลาด และให้เกษตรกรผลิตในสิ่งที่ตลาดต้องการ ตลอดจนเข้าไปช่วยปรับวิธีคิดเชิงธุรกิจ นำเทคโนโลยีภาคการเกษตรมาใช้ เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ การใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ หากสามารถเพิ่มรายได้ 3 เท่าใน 4 ปี มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่จะยกระดับนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ไปสู่นโยบายดิจิทัล โอทอป สนับสนุนการขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการสร้างผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
ไม่หมดเพียงแค่นี้…พรรคเพื่อไทย ยังขอจัดหนัก นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว ครอบครัวละ 1 คน เพื่อมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยสร้างศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ กว่า 800 แห่ง เช่น เชฟทำอาหาร นักออกแบบ นักร้อง นักแต่งเพลง นักกีฬาอีสปอร์ต นักออกแบบมัลติมีเดีย ผู้ผลิตภาพยนตร์ เมื่อเห็นศักยภาพที่เด่นชัดจะได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาไปฝึกอบรมทักษะระดับโลกต่อต่างประเทศ ซึ่งโครงการนี้สร้างงานได้กว่า 20 ล้านตำแหน่งสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยได้ 200,000 บาทต่อครัวเรือน
พลังประชารัฐเน้น 3-7
ต่อกันด้วย “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นพรรคที่รวบรวม ขุนพลทีมเศรษฐกิจไว้มากที่สุด และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่วางสโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ด้วยการที่มีทีมเศรษฐกิจมากหน้าหลายตา แถมยังมาจากหลายก๊วนหลายกลุ่ม ทำให้นโยบายด้านเศรษฐกิจจึงออกมาจำนวนมาก โดย ชูนโยบาย 3 เร่งด่วน 7 เร่งรัด เป็นชุดนโยบายที่มีตั้งแต่การแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ไปจนถึงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และพลิกโฉมประเทศ 360 องศา
นโยบาย 3 เร่งด่วน เริ่มกันตั้งแต่การแก้หนี้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งเติมทุนใหม่ การดูแลคนไทยด้วยชุดสวัสดิการแห่งรัฐ ควบคู่การเสริมทักษะพัฒนาคนไทยให้ก้าวทันโลก รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มวัย โดยพรรคพลังประชารัฐยังมีแนวคิดตั้งกองทุนประชารัฐ 3 แสนล้านบาท สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน คนตัวเล็ก เอสเอ็มอี และช่วยเหลือประชาชนให้มีความคล่องตัว พร้อมกับดำเนิน 7 นโยบาย เร่งรัด โดยในปีแรกจะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท และทยอยใส่เงินเข้ามาเพิ่มเติมตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 3 แสนล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้จะมาจากการบริหารจัดการงบประมาณเดิมที่มีอยู่ เช่น เกลี่ยงบประมาณ การจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณที่ไม่ต่อเนื่อง เป็นการหาพื้นที่งบประมาณเพิ่มเติมโดยไม่ต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณใหม่
ส่วนการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะพลังประชารัฐ เป็นคนเริ่มต้นทำมา เพื่อดูแลสังคมเพราะหากไม่ทำแล้ว ต่อไปในอนาคตอาจมีปัญหาสังคมตามมา ดังนั้น สวัสดิการประชารัฐเป็นมิติการดูแลให้ความคุ้มครองด้านสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยเริ่มจากกลุ่มเปราะบางแต่อีกมิติคือ การพัฒนาคนไปพร้อมๆ กัน
ขณะที่ นโยบายด้านภาษี พลังประชารัฐจะปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนที่เป็นรายจ่ายด้านภาษี โดยเฉพาะการไม่เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 500,000 บาท รวมถึงทบทวนมาตรการการลดหย่อนภาษี อะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดทิ้ง ขณะเดียวกันจะขยายฐานภาษีไปพร้อมๆ กัน เช่น การเติมทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่มีเงื่อนไขว่า… ต้องเข้ามาอยู่ในระบบภาษีให้ถูกต้อง ส่วนการออกภาษีใหม่ จะมีการผลักดันเก็บภาษีกับผู้ค้าออนไลน์ ที่เป็นบริษัทมาจากต่างประเทศซึ่งเข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่ต้องทำระบบจัดเก็บให้มีความครบถ้วน นอกจากนี้ จะรื้อการเก็บภาษีคาร์บอนให้สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่มุ่งไปในแนวทางการลดโลกร้อน
รทสช.งัดบัตรลุงตู่ สู้
ปิดท้ายด้วย “พรรครวมไทยสร้างชาติ” หรือ รทสช. พรรคน้องใหม่แต่สมาชิกหน้าเก่า นำทีมโดยลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่มาแล้ว 8 ปี แต่ยังขออาสานั่งนายกฯ ต่ออีกสมัย ซึ่งชูจุดเด่นในเรื่องของความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พร้อมฟังก์ชัน มองใครเห็นต่างกลายเป็นกลุ่มชังชาติทั้งหมด และไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองที่ด้อยค่าประเทศ ทั้งที่ต่างชาติยกย่อง และก็น่าจับตาในเส้นทางการเมืองครั้งนี้ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่พี่น้องตระกูล ป. แยกทางกันเดิน
สำหรับนโยบาย “ด้านเศรษฐกิจ” ของรวมไทยสร้างชาติ ด้วยการที่มีรากเหง้ามาจากพลังประชารัฐ จึงมีการนำผลงานบางส่วนที่ลุงตู่เคยทำมาอัปเกรดใหม่ เช่น การปรับโฉมเปลี่ยนชื่อใหม่ “บัตรสวัสดิการ พลัส” เพิ่มเงินให้เดือนละ 1,000 บาท รวมปีละ 12,000 บาท หากเป็นรัฐบาลอยู่ได้จนครบ 4 ปี ก็มีเงินช่วยเหลือประชาชนคนไทยแล้ว 48,000 บาท ซึ่งหัวหน้าพรรคเองได้ออกมาเคลมไว้ว่า เงินที่ได้นี้เป็นเงินจริงๆคำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
นอกจากนี้ ประชาชนคนไทยที่ยังเดือดร้อน ฉุกละหุกไม่มีเงินจริงๆ หรือต้องการมีเงินสดมาสำรองจ่าย หรือนำไปใช้ตั้งตัวยังสามารถนำบัตรสวัสดิการ พลัส นี้ ไปใช้เป็นหลักประกันในการขอกู้ยืมเงินผ่านธนาคารของรัฐได้อีกต่างหาก ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดวงเงินกู้ไว้สูงสุดที่ 10,000 บาทกันทีเดียว เพื่อให้หายใจหายคอกันได้คล่องตัวมากขึ้น ส่วนใครที่ยังติดอกติดใจในโครงการคนละครึ่ง ในรอบหน้า บิ๊กตู่ การันตีกลับมามีแน่นอน รวมถึงสาวก เราเที่ยวด้วยกัน ที่ตั้งตารอรอบหน้าก็มีให้ แต่จำกัดให้ท่องเที่ยวเฉพาะเมืองรองเท่านั้น
นอกจากนี้จะเร่งเดินหน้าเร่งแก้ไขกฎหมาย เพื่อกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อให้ชำระดอกเบี้ยต่ำลง การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 6.8 ล้านราย รวมทั้งทำระบบบริหารสหกรณ์ของประเทศใหม่ ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยสูงมาก ตลอดจนการแก้ไขหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เกิดโควิด ประมาณ 30 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท การแก้หนี้ภาคเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ โดยอยู่ระหว่างหารือกับ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อแก้ไขทั้งหมดนี้จะลดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนลงมาได้ ซึ่งต้องรอผลการหารือให้ชัดเจนก่อน
นอกจากนี้ จะผลักดันให้คนไทยมีรายได้เสริมจากเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี ซึ่งปัจจุบันมีการทำเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น การทำเชื้อเพลิงชีวภาพ การเพิ่มมูลค่าจากการจัดการขยะชุมชน การจัดการขยะพลาสติกครบวงจร การทำโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชุมชน พรรครวมไทยสร้างชาติคำนวณแล้วว่าสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้ทันที 30-40%
ทั้งหมด!! คือ…นโยบายเศรษฐกิจของ 4 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ได้นำมาฉายภาพให้เห็นชัดๆ อีกครั้ง เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าคูหากาเลือก “พรรคที่ชอบ…คนที่ใช่” โดยทิศทางของประเทศในอนาคตจากนี้ไป จะเดินไปทิศทางไหน อำนาจนั้น!! อยู่ในมือของผู้มีสิทธิทุกคนแล้ว.
…ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์…